ระนอง หรือเมืองแร่นอง เดิมเป็นหัวเมืองเล็กๆ มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น2 เมือง คือ เมืองระนอง และเมืองตระ ซึ่งอยู่ในการปกครองของเมืองชุมพร
เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง เรียกชื่อตามนามเมืองว่า "หลวงระนอง" ครั้นต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวจีนฮกเกี้ยน ชื่อ " คอซู้เจียง " ได้ยื่นขอประมูลอากรดีบุกในเขตเมืองระนองและเมืองตระ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดอนุญาตพร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คอซู้เจียงเป็น หลวงรัตนเศรษฐี ดำรงตำแหน่งนายอากรเมืองตระ และ เมืองระนอง
ในปี 2397 ตำแหน่งเจ้าเมืองระนองว่างลง เนื่องจากหลวงระนองป่วยถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระรัตนเศรษฐี เป็นเจ้าเมืองระนอง เมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษได้จัดการปกครองหัวเมือง ที่ได้ไปจากพม่าเข้มงวดกวดขันขึ้น โดยลำดับมาถึงเขตต่อแดนพระราชอาณาเขตทางทะเลตะวันตก
ในปี 2397 ตำแหน่งเจ้าเมืองระนองว่างลง เนื่องจากหลวงระนองป่วยถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระรัตนเศรษฐี เป็นเจ้าเมืองระนอง เมื่อพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษได้จัดการปกครองหัวเมือง ที่ได้ไปจากพม่าเข้มงวดกวดขันขึ้น โดยลำดับมาถึงเขตต่อแดนพระราชอาณาเขตทางทะเลตะวันตก
ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าเมืองระนองและเมืองตระ เป็นเมืองขึ้นอยู่ในเมืองชุมพรจะรักษาราชการทางชายแดนไม่สะดวก จึงโปรดฯ ให้ยกเมืองตระและเมืองระนอง เป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระรัตนเศรษฐี (คอซู้เจียง) ขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี เป็นผู้ว่าราชการเมืองระนอง เมื่อ พ.ศ. 2405 และ ในปี พ.ศ. 2420 สมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ระนองมีฐานะเป็นหัวเมืองอิสระ และต่อมาได้ยกฐานะเป็นจังหวัดและได้มีการยุบเมืองตระเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภอกระบุรีโดยให้ขึ้นกับจังหวัดระนองตั้งแต่นั้นมา ระนองในอดีตนั้นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองดีบุก เมืองชายแดน เมืองคอคอดกระ และเมืองเสด็จประทับแรม ดังนี้
- เมืองดีบุก ระนองมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีชื่อเรียกกันในสมัยโบราณว่าตะกั่วดำหรือดีบุกอยู่ใต้แผ่นดินเป็นจำนวนมาก จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองดีบุกมีแร่ดีบุกมีค่าอุดมสมบูรณ์ และเป็นเมืองแรกที่มีเจ้าของเหมืองแร่ (นายนอง) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงระนอง เจ้าเมืองคนแรก ซึ่งเป็นนายอากรแต่โบราณ ในการผูกขาดส่งอากรดีบุกให้รัฐบาล นับว่าได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
- เมืองชายแดน
การที่ไทยต้องเสียดินแดนเมืองมะริดรวมทั้งเมืองมะลิวัลย์แก่อังกฤษและได้มีการปักปันเขตแดนไทย โดยใช้แม่น้ำกระบุรีเป็นเส้นกั้นพรมแดนในปี พ.ศ. 2442มีผลให้เมืองระนอง และเมืองตระ ซึ่งมีฐานะเป็นอำเภอในปกครองของจังหวัดระนอง มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองชายแดนมีอาณาเขตติดต่อกับเมืองขึ้นของอังกฤษทางด้านทะเลตะวันตก และมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์รวมของการไปมาหาสู่และซื้อขายสินค้าระหว่างไทยกับพม่าซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อพม่าได้รับเอกราชพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษการไปมาหาสู่และการซื้อขายสินค้าระหว่างคนไทยและพม่าทางชายแดนจังหวัดระนองนำความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ให้จังหวัดชายแดนทั้งสองประเทศจนถึงปัจจุบัน - เมืองคอคอดกระ
พื้นที่บริเวณคอคอดกระ เป็นผืนแผ่นดินที่กิ่วหรือแคบที่สุดในแหลมมลายู ระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร พื้นที่ด้านตะวันตกของบริเวณคอคอดกระ ตั้งอยู่ในเขตปกครองของเมืองตระ มาแต่เดิม ผืนแผ่นดินส่วนที่แคบที่สุดระหว่างทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออกแห่งนี้ มีภูเขาสลับซับซ้อนมีทางลัดผ่านช่องเขาเพียงสายเดียว ในสมัยโบราณคอคอดกระ มีความสำคัญเป็นเส้นทางที่สำคัญทางเดียวที่พม่าใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ยกมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งทะเลตะวันออก เมื่อฝรั่งเศสคิดจะขุดคลองกระจากเมืองตระไปออกเมืองชุมพร เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินเรือจากยุโรปไปเมืองจีนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคอคอดกระจึงมีความสำคัญมากขึ้น หากสามารถขุดคลองได้สำเร็จ เรือเดินทะเลจากยุโรป จะผ่านคลองไปเมืองจีนได้ โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู ผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษทางเมือง ปีนังและสิงคโปร์ และความจำเป็นทางด้านการทหารของอังกฤษ คงมีผลให้ไทยต้องเสียดินแดนทางแหลมมลายู ด้วยเหตุดังกล่าวประกอบกับการขุดคลองกระ จึงจำเป็นต้องขุดแม่น้ำกระบุรี ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทยกับพม่าของอังกฤษให้กว้างลึกเข้าไปในดินแดนอันอยู่ในอำนาจของอังกฤษด้วย เมื่ออังกฤษไม่ยอม จึงขุดคลองคอคอดกระไม่ได้ ความคิดที่จะขุดคลองกระ จึง ล้มเลิกไป อังกฤษจึงได้กำหนดเป็นข้อผูกพันไว้ในสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษมิให้ไทยขุดคลองดังกล่าวโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากของอังกฤษก่อน การขุดคลอง ณ บริเวณคอคอดกระ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง แต่กระทบต่อความมั่นคง ของชาติทางด้านการทหาร บริเวณคอคอดกระเหมาะสมแก่การขุดคลองเพียงไร คุ้มค่าในการลงทุน แค่ไหนเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา คอคอดกระจึงยังอยู่ในความสนใจทั้งทางราชการและประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน - เมืองเสด็จประทับแรม
พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนพระบรมวงศานุวงค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ จังหวัดระนอง ตามลำดับดังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ผ่านเมืองตระไปประทับแรม ณ พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ บนเขานิเวศน์คีรี เมืองระนอง 3 ราตรี ในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ประทับแรม ณ จังหวัดระนอง เมื่อ พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองระนอง และประทับแรม ณ จังหวัดระนอง 3 ราตรี ในปี พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดระนอง ประทับแรม ณ จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2502 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรท้องที่จังหวัดระนอง เป็นการส่วนพระองค์ และทรงลงพระปรมาภิไธยบนแผ่นศิลา ที่อำเภอกระบุรี รวมทั้งประทับแรม เป็นเวลา 2 ราตรี เมื่อวันที่ 29-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 และเมื่อวันที่ 21พฤษภาคม พ.ศ. 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จนำคณะ นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มาทัศนศึกษาประกอบหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ ณ จังหวัดระนอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น